เชื้อเพลิงขยะมูลฝอย (Refuse Derived Fuel : RDF)

เชื้อเพลิงขยะมูลฝอย (Refuse Derived Fuel : RDF)

พลังงานไฟฟ้าถือเป็นพลังงานสำคัญที่มีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ และอย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยประสบกับปัญหาขยะสะสมมาหลายปี ดังจะเห็นได้จากรายงานของ กรมควบคุมมลพิษที่กล่าวถึงปัญหาขยะสถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศปี พ.ศ.2564 โดยมีปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น 25 ล้านตัน และมีปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์เพียง 7.89 ล้านตันเท่านั้น จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีปริมาณขยะสะสมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบางส่วนของขยะเหล่านี้ถูกกำจัดโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง การส่งเสริมให้มีการจัดการขยะด้วยวิธี Waste to Energy หรือการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ หนึ่งในนั้นก็คือ การนำขยะมาทำเป็นเชื้อเพลิง หรือที่เรียกว่า เชื้อเพลิงขยะมูลฝอย (Refuse Derived Fuel : RDF)

RDF หรือ เชื้อเพลิงขยะมูลฝอยคืออะไร

เชื้อเพลิงขยะมูลฝอย หรือ RDF คือ เชื้อเพลิงแข็งรูปแบบหนึ่งที่ได้จากการนำขยะชุมชนมาปรับปรุงองค์ประกอบทั้งทางเคมีและกายภาพ เช่น กระบวนการย่อย กระบวนการคัดแยกขยะที่เผาไหม้ได้ออกจากขยะอินทรีย์ เศษโลหะ ขยะที่เผาไหม้ไม่ได้ และขยะอื่น ๆ กระบวนการอัดแท่ง กระบวนการลดความชื้น ฯลฯ เพื่อให้ได้เป็นเชื้อเพลิง RDF ที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพและมีคุณสมบัติ เช่น ค่าความร้อน ขนาด ความชื้น ความหนาแน่น ที่เหมาะสมต่อการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานความร้อน หรือนำไปเผาร่วมกับถ่านหินเพื่อลดปริมาณการใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เป็นต้น

ประเภทของขยะที่นำมาผลิต RDF

ประเภทหรือชนิดของขยะที่จะมาผลิตเป็น RDF คือ ขยะ 2 กลุ่ม ดังนี้

  1. ขยะที่ย่อยสลายยากและให้ความร้อนสูง เช่น ถุงพลาสติก กล่องบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก เช่น กล่องนม กล่องขนม เศษกระดาษ โฟม ผ้ายาง หนังสัตว์ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มขยะประเภทนี้มักจะมีค่าความร้อนสูงแต่หากไม่มีการควบคุมการเผาไหมที่ดีพอ มักจะมีปัญหาด้านมลพิษจากก๊าซที่เผาไหม้ตามมาภายหลัง
  2. ขยะชีวมวล เช่น เศษกิ่งไม้ เปลือกไม้ หรือเมล็ดผลไม้ ซึ่งขยะกลุ่มนี้มักจะมีค่าความร้อนต่ำ หากมีการนำขยะชีวมวลกลุ่มนี้ผสมกับขยะกลุ่มแรกในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะทำให้ได้ขยะเชื้อเพลิงที่มีค่าความร้อนสูง สามารถลดปัญหามลพิษจากการนำขยะเชื้อเพลิงที่ได้ไปใช้งานเนื่องจากปัญหามลพิษจากก๊าซที่เผาไหมน้อย แต่ขยะชีวมวลกลุ่มนี้จะมีปริมาณไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล

ประเภทของเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย (RDF)

ประเภทของขยะเชื้อเพลิง RDF ตามมาตรฐาน ASTM ซึ่งเป็นการแบ่งตามลักษณะของขยะเชื้อเพลิงและกระบวนการที่ใช้ในการจัดการขยะ สามารถแบ่งออกได้เป็น 7 ประเภทดังนี้

  1. RDF-1 คือ การนำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงในสภาพเดียวกับที่ถูกจัดเก็บมาโดยไม่ผ่านกระบวนการแปรสภาพขยะ แต่อาจมีการแยกชิ้นส่วนที่มีขนาดใหญ่ออกด้วยมือ
  2. RDF-2 คือ การนำขยะที่เก็บรวบรวมได้มาผ่านกระบวนการคัดแยกส่วนที่เผาไหม้ไม่ได้ออก เช่น โลหะและแก้ว จากนั้นนำไปลดขนาดด้วยการบดหรือตัดขยะมูลฝอยอย่างหยาบ ๆ
  3. RDF-3 คือ การนำขยะที่เก็บรวบรวมได้มาผ่านกระบวนการเช่นเดียวกับ RDF-2 แต่จะมีการลดขนาดให้เล็กลงจนทำให้ร้อยละ 95 ของขยะมูลฝอยที่คัดแยกแล้วมีขนาดเล็กกว่า 2 นิ้ว
  4. RDF-4 คือ การนำขยะมูลฝอยส่วนที่เผาไหม้ได้มาทำให้อยู่ในรูปของผงฝุ่นหรือฝุ่นแป้งโดยมีขนาดเล็กกว่า 0.0035 นิ้ว
  5. RDF 5 คือ การนำขยะมูลฝอยส่วนที่เผาไหม้ได้มาผ่านกระบวนการอัดแท่งให้มีความหนาแน่นมากกว่า 600 kg/m3 โดยอาจจะมีการเติมส่วนประกอบต่าง ๆ เพิ่มเข้าไปเพื่อให้มีคุณสมบัติตามต้องการ
  6. RDF 6 คือ การนำขยะมูลฝอยส่วนที่เผาไหม้ได้มาผ่านกระบวนการให้อยู่ในรูปของเชื้อเพลิงเหลว หรือกึ่งแข็งกึ่งเหลว
  7. RDF 7 คือ การนำขยะมูลฝอยส่วนที่เผาไหม้ได้มาผ่านกระบวนการแปรสภาพเป็นแก๊ส (Gasification) เพื่อผลิตแก๊สสังเคราะห์ (Syngas) ที่ใช้เป็นแก๊สเชื้อเพลิงได้

การใช้ประโยชน์จากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย (RDF)

RDF คือ เชื้อเพลิงที่มีประโยชน์หลายประการ สามารถใช้ได้ทั้งเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อน เช่น

  • ใช้ในสถานที่แปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิงขยะ (On-site) ร่วมกับอุปกรณ์ที่ใช้เปลี่ยน RDF เป็นพลังงาน เช่น เตาเผาแบบตะกรับ หรือ เตาเผาแบบฟลูอิดไดซ์เบด
  • ใช้ในสถานที่อื่นที่ต้องมีการขนส่ง (Off-site) ร่วมกับอุปกรณ์ที่ใช้เปลี่ยน RDF เป็นพลังงาน เช่น เตาเผาแบบตะกรับ หรือ เตาเผาแบบฟลูอิดไดซ์เบด
  • ใช้เผาไหม้ร่วมกับเชื้อเพลิงอื่น เช่น ถ่านหินหรือชีวมวล เพื่อลดการใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรมบางประเภท
  • ใช้เผาไหม้ในเตาผลิตปูนซีเมนต์
  • ใช้ร่วมกับถ่านหินหรือชีวมวลในกระบวนการ Gasification