MSW ขยะมูลฝอยชุมชน (Municipal Solid Waste)

ระบบการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน (Municipal Solid Waste Management)

ปัญหาขยะมูลฝอยชุมชนเป็นปัญหาหนึ่งที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ในปี 2564 มีปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นสูงถึง 24.98 ล้านตัน แบ่งเป็นปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ 7.89 ล้านตัน ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดถูกต้อง 9.28 ล้านตัน ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง 7.81 ล้านตัน และปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างมากถึง 7.5 ล้านตัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และสุขภาพของคนในชุมชน ดังนั้น การจัดการขยะมูลฝอยแต่ละประเภทอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญเพื่อลดปัญหาขยะล้นประเทศที่นับวันจะเลวร้ายลง

MSW หรือ ขยะมูลฝอยคืออะไร (Municipal Solid Waste)

พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ได้ให้ความหมายของคำว่า“ขยะมูลฝอย” หรือ “มูลฝอย” ไว้ว่า หมายถึง เศษกระดาษ เศษผ้า เศษอาหาร เศษสินค้า ถุงพลาสติก ภาชนะใส่อาหาร เถ้า มูลสัตว์ หรือซากสัตว์ รวมถึงสิ่งอื่นใดที่เก็บกวาดจากถนน ตลาด ที่เลี้ยงสัตว์ หรือที่อื่น ยกเว้นวัสดุที่ไม่ใช้แล้วของโรงงานซึ่งมีลักษณะและคุณสมบัติที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ดังนั้น ขยะมูลฝอยชุมชน (Municipal Solid Waste) หรือ MSW จึงเป็นขยะที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน เช่น ตลาดสด บ้านพักอาศัย ธุรกิจร้านค้า สถานประกอบการ สถานบริการ สถาบันต่าง ๆ รวมทั้งเศษวัสดุ ก่อสร้าง แต่ไม่รวมของเสียอันตรายและมูลฝอยติดเชื้อ

ประเภทของขยะมูลฝอยชุมชน

สำนักจัดการกากของเสียและสารอันตรายได้แบ่งประเภทของขยะมูลฝอยชุมชนตามลักษณะทางกายภาพเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  1. ขยะย่อยสลาย (Compostable Waste) หรือ มูลฝอยย่อยสลาย หมายถึง ขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว สามารถนำมาหมักทำปุ๋ยได้ เช่น เศษผัก เปลือกผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้ เศษเนื้อสัตว์ ฯลฯ แต่ไม่รวมถึงซากหรือเศษของพืช ผัก ผลไม้ หรือสัตว์ที่เกิดจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ โดยที่ขยะย่อยสลายนี้เป็นขยะที่พบมากที่สุด คือ พบมากถึง 64% ของปริมาณขยะทั้งหมดในกองขยะ
  2. ขยะรีไซเคิล (Recyclable Waste) หรือ มูลฝอยที่ยังใช้ได้ หมายถึง ของเสีย บรรจุภัณฑ์ หรือวัสดุเหลือใช้ ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เช่น แก้ว กระดาษ เศษพลาสติก กล่องเครื่องดื่มแบบ UHT กระป๋องเครื่องดื่ม เศษโลหะ อะลูมิเนียม ยางรถยนต์ เป็นต้น โดยขยะรีไซเคิลนี้เป็นขยะที่พบมากเป็นอันดับที่สองในกองขยะ กล่าวคือพบประมาณ 30% ของปริมาณขยะทั้งหมดในกองขยะ
  3. ขยะอันตราย (Hazardous Waste) หรือ มูลฝอยอันตราย หมายถึง ขยะที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนวัตถุอันตรายชนิดต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ วัตถุระเบิด วัตถุไวไฟ วัตถุออกซิไดซ์ วัตถุมีพิษ วัตถุที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกรรมมันตรังสี วัตถุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม วัตถุกัดกร่อน วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดฟลูออเรสเซนต์ แบตเตอรี่โทรศัพท์ ภาชนะบรรจุสารกำจัดศัตรูพืช กระป๋องสเปรย์บรรจุสีหรือสารเคมี เป็นต้น ขยะอันตรายนี้เป็นขยะที่มักจะพบได้น้อยที่สุดคือเพียง 3% ของปริมาณขยะทั้งหมดในกองขยะ
  4. ขยะทั่วไป (General Waste) หรือ มูลฝอยทั่วไป หมายถึง ขยะประเภทอื่นนอกเหนือจากขยะย่อยสลาย ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย โดยขยะทั่วไปมักมีลักษณะเป็นขยะที่ย่อยสลายยากและไม่คุ้มค่าต่อการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น ห่อพลาสติกใส่ขนม ถุงพลาสติกบรรจุผงซักฟอก ซองห่อลูกอม ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุงพลาสติกเปื้อนเศษอาหาร โฟมเปื้อนอาหาร เป็นต้น สำหรับขยะทั่วไปนี้เป็นขยะที่มีปริมาณใกล้เคียงกับขยะอันตราย กล่าวคือ จะพบประมาณ 3% ของปริมาณขยะทั้งหมดในกองขยะ

ระบบการจัดการขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน

ระบบการจัดการขยะมูลฝอยเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะมูลฝอย โดยเริ่มที่แหล่งกำเนิดครอบคลุมถึงกระบวนการกำจัดขั้นสุดท้าย โดยองค์ประกอบของระบบการจัดการขยะมูลฝอยประกอบไปด้วย 6 ปัจจัย ดังนี้

  1. การเกิดขยะมูลฝอย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคในสังคม โดยมีแหล่งกำเนิดมาจากชุมชน เช่น บ้านพักอาศัย หอพัก คอนโดมิเนียม ร้านค้า สถานประกอบการ ภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม โดยประเภทของขยะที่เกิดขึ้นจะมีทั้งขยะทั่วไป ขยะติดเชื้อ และขยะอิเล็กทรอนิกส์ หากมีการจัดการที่ไม่ถูกต้องตามหลักจะทำให้เกิดผลกระทบในด้านต่าง ๆ อย่างมาก
  2. การจัดการขยะมูลฝอยที่แหล่งกำเนิด ประกอบด้วยกระบวนการที่สำคัญ 2 ส่วน คือ การคัดแยกประเภทของขยะมูลฝอย ได้แก่ ขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไป ขยะอันตราย ขยะติดเชื้อ และขยะรีไซเคิล ถือเป็นมาตรการสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยให้การจัดการขยะในขั้นตอนต่อไปเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนการกักเก็บขยะมูลฝอยไว้ชั่วคราวเป็นการเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดไว้ในภาชนะรองรับขยะที่เหมาะสมก่อนนำไปวางยังจุดรวบรวมมูลฝอยเพื่อรอการเก็บรวบรวมโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  3. การเก็บรวบรวมขยะมูลฝอย เป็นการดำเนินกิจกรรมเพื่อเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยบริเวณจุดวาง เช่น บริเวณที่พักอาศัย โรงเรียน ตลาดสด สถานพยาบาล ฯลฯ ไปยังรถเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยเพื่อนำไปจัดการในขั้นตอนต่อไป ระบบการเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยที่ใช้ในปัจจุบัน มีอยู่ 2 วิธี คือ ระบบการเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยแบบถังเคลื่อนที่และระบบการเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยแบบถังคงที่ จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนและจัดการให้ดีเพื่อลดปัญหาการสะสมของขยะมูลฝอย
  4. การแปรสภาพขยะมูลฝอย เป็นการแปรสภาพทางกายภาพและเคมีของขยะก่อนนำไปใช้ประโยชน์หรือขนส่งเพื่อนำไปกำจัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ
    • เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการขยะ โดยการอัดขยะใหเป็นฟ่อนหรือก้อน ซึ่งจะช่วยลดพื้นที่ในการเก็บขนขยะและลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งไปยังสถานที่ฝังกลบให้น้อยลง
    • เพื่อนำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
    • เพื่อนำผลผลิตที่เกิดจากกระบวนการแปรสภาพมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น การแปรสภาพขยะเป็นปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์ หรือทำการย่อยสลายเพื่อให้ได้ก๊าซมีเทนมาใช้ในการหุงต้ม การผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น
  5. การขนถ่ายและการขนส่งขยะมูลฝอย เป็นกิจกรรมเพื่อขนส่งขยะมูลฝอยที่เก็บรวบรวมได้ไปยังสถานที่นำวัสดุกลับคืน สถานที่กำจัด หรือการขนส่งผ่านสถานขนถ่ายขยะมูลฝอย ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากสถานที่นำวัสดุกลับคืนหรือสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในระบบการจดัการขยะมูลฝอย ต่อจากขั้นตอนการเก็บรวบรวมขยะมูลฝอย
  6. การกำจัดขยะมูลฝอย หรือการทำลายถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งหลังจากมีการดำเนินงานในขั้นตอนต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ขยะมูลฝอยที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกจะถูกขนส่งไปกำจัดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การฝังกลบ และการเผาในเตาเผา เป็นต้น

การใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอย

การนำวัสดุเหลือใช้จากขยะมูลฝอยกลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์จะช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยที่จะต้องกำจัด ในขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ได้อีกส่วนหนึ่งด้วยการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือใช้ โดยวิธีหนึ่งที่ปฏิบัติกันมาอย่างช้านาน ได้แก่ การคัดแยกวัสดุเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เนื่องจากขยะมูลฝอย เช่น กระดาษ แก้ว ขวด พลาสติก เหล็ก และโลหะอื่น ๆ อาจนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่

ส่วนขยะมูลฝอยบางส่วนอาจนำไปแปรรูปเป็นพลังงาน คือ พลังงานความร้อน ซึ่งได้จากการนำเอาขยะมูลฝอยส่วนที่เผาไหม้ได้มาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับทำไอน้ำร้อน แล้วส่งไปให้ความอบอุ่นตามอาคารบ้านเรือน รวมถึงพลังงานไฟฟ้า ซึ่งได้จากการนำขยะมูลฝอยไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไอน้ำไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้านั่นเอง