ESG คืออะไร ทำไม ESG ถึงมีความสำคัญในปัจจุบัน

ESG

การลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นเทรนด์การลงทุนที่นักลงทุนบุคคล (Individual Investor) และนักลงทุนสถาบัน (Institutional Investors) ทั่วโลกให้ความสนใจท่ามกลางวิกฤติการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น การลงทุนจึงไม่ใช่เป็นเพียงการมุ่งหวังผลกำไรเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบ การจัดการด้านสังคม และการจัดการด้านธรรมาภิบาล สอดคล้องกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยพิจารณาผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือที่รู้จักกันว่า “ESG”

ESG คืออะไร

ESG คือ แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) ปัจจุบัน ESG คือ เทรนด์ในการลงทุนที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลกในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นแนวคิดที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน เนื่องจากธุรกิจที่มี ESG ที่ดีจะสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพของการเติบโตในระยะยาว

"E" Environmental สิ่งแวดล้อม

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นผลมาจากการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจย่อมมีการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าทุกธุรกิจล้วนมีส่วนในการทำร้ายโลกไม่มากก็น้อย ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่าที่สุดและทำให้ผลเสียจากการดำเนินธุรกิจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งอาจประเมินได้จากการใช้ตัวชี้วัดในด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสร้างของเสีย การปล่อยมลพิษ การลดการใช้กระดาษ การลดพลังงานไฟฟ้า การรีไซเคิล การประหยัดพลังงาน เป็นต้น

"S" Social สังคม

ประเด็นด้านสังคมหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งภายในและภายนอก ได้แก่ พนักงาน ลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนท้องถิ่น และผู้ทำงานในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เพราะธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องย่อมมีแนวโน้มที่การดำเนินงานของธุรกิจจะเป็นไปอย่างราบรื่น รวมทั้งได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าของธุรกิจ ซึ่งตัวชี้วัดด้านสังคมอาจประเมินได้จากความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม การให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน การให้ความสำคัญกับแรงงาน สร้างความเท่าเทียมให้กับคนทุกกลุ่ม เช่น การให้โอกาสผู้พิการได้ทำงาน ความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน เป็นต้น

"G" Governance บรรษัทภิบาล

ประเด็นในด้านธรรมาภิบาลเป็นประเด็นของความโปร่งใสในการดำเนินงานของธุรกิจ รวมไปถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตและการตรวจสอบเพื่อผลประโยชน์ที่เป็นธรรมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของธุรกิจทั้งหมด ซึ่งอาจประเมินได้จากความโปร่งใสในการดำเนินงาน วัฒนธรรมองค์กร กฎ ระเบียบ สัดส่วน และนโยบายในการแบ่งผลตอบแทน การจัดการด้านภาษี โครงสร้างผู้บริหาร ความแตกต่างหลากหลายของผู้บริหารและคณะกรรมการของบริษัท ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การเปิดเผยนโยบายและขั้นตอนอย่างตรงไปตรงมา การดำเนินการเพื่อลดการทุจริตและคอรัปชั่นในองค์กร โดยทุกขั้นตอนการดำเนินงานต้องโปร่งใส ยุติธรรม และตรวจสอบได้ เป็นต้น

ESG สำคัญอย่างไร?

ในอดีตที่ผ่านมา นักลงทุนส่วนใหญ่จะเลือกลงทุนในธุรกิจหรือบริษัทที่มีผลกำไรดีเป็นสำคัญ แต่ปัจจุบันบทวิเคราะห์ของบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์หลายแห่งได้ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนในบริษัทที่มุ่งเน้นแนวคิด ESG คือ ธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนจะสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าบริษัทที่แสวงผลกำไรในระยะยาว สอดคล้องกับผลสำรวจจากหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกที่ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนแบบยั่งยืนกำลังมีอิทธิพลในตลาดการลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการลงทุนในกลุ่มธุรกิจ ESG จะอยู่ในกลุ่มการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment) แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเกิดจากการลงทุนที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวก ธุรกิจสามารถบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐาน โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับแค่ผลประกอบการเพียงอย่างเดียว ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนั้นบริษัทที่สามารถระบุปัจจัย ESG ที่มีความสำคัญต่อความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลต่อศักยภาพการดำเนินธุรกิจที่โดดเด่นเหนือคู่แข่งอย่างชัดเจน

ESG Risk คืออะไร

ความเสี่ยงด้าน ESG คือ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน “ESG” หรือที่เรียกว่า “ESG Risk” ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่องค์กรจะต้องหาวิธีการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อสร้างโอกาสและลดความเสี่ยงอันมีผลต่อความสามารถในการสร้างผลกำไร การแข่งขัน ภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และความอยู่รอดขององค์กร โดยบูรณาการการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความยั่งยืนตั้งแต่การกำหนดพันธกิจและกลยุทธ์องค์กร รวมถึงการวิเคราะห์ความเสี่ยงและประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนมาประกอบการจัดการความเสี่ยงในระดับต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสีย

  • ESG Risk ด้านสิ่งแวดล้อม
    • ผลกระทบจากการเปลี่ยนเปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ บริการ หรือการจัดหาวัตถุดิบ
    • ผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำที่มีต่อกระบวนการผลิตหรือบริการ
    • ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษีภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Tax)
    • สถานที่ก่อสร้างที่มีความเสี่ยงเรื่องสิ่งแวดล้อมที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ
    • การเลือกใช้วัสดุที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือมีความเสี่ยงในด้านความปลอดภัย
  • ESG Risk ด้านสังคม
    • การละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน
    • การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร
    • พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป
    • ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน
    • การคัดค้านการสร้างโรงงานในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงชุมชน
  • ESG Risk ด้านบรรษัทภิบาล
    • การที่องค์กรไม่เปิดเผยข้อมูลที่มีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นประเด็นที่เป็นความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย
    • ความบกพร่องในมาตรการกำกับดูแลภายในองค์กร
    • ความเสี่ยงจากการเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีปัญหาด้านคอร์รัปชั่น
    • การไม่ผ่านกฎระเบียบ เช่น การพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)
    • การเลือกวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานในการก่อสร้าง ทำให้ไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการ