Circular economy หรือ แนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน คืออะไร

Circular economy

ในปัจจุบัน ปริมาณทรัพยากรธรรมชาติได้ลดลงอย่างรวดเร็วจากการบริโภคที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานมากขึ้น ถึงแม้มีการแสวงหาแหล่งทรัพยากรทดแทนและการจัดการของเสียบางส่วนให้กลับมาใช้ได้ ก็ยังไม่พอต่อความต้องการและยังมีของเสียตกค้างจนส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจึงเป็นประเด็นที่สังคมไทยตื่นตัวเป็นอย่างมากจนเกิดเป็นแนวคิด “Circular Economy” เพื่อแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวสู่ความยั่งยืนในอนาคต

Circular economy คืออะไร

เดิมที เศรษฐกิจส่วนใหญ่มักเป็นเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) กล่าวคือเป็นการนำทรัพยากรมาผลิตสินค้า และเมื่อเลิกใช้แล้ว ทรัพยากรเหล่านั้นก็จะถูกนำไปทิ้ง โดยไม่นำกลับมาใช้อีก ส่งผลกระทบต่อโลกโดยตรง ปัจจุบันจึงมีการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ ซึ่งเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรธรรมชาติในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) กลับมาใช้ประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย วัตถุดิบ และพลังงานให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยวิธีการต่าง ๆ ทำให้ลดการเกิดของเสียและสร้างผลผลิตได้มากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรและพลังงานน้อยลง

การปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เป็น Circular Economy

การปรับเปลี่ยนกระบวนการและการทำงานของธุรกิจให้อยู่ในรูปแบบ Circular Economy สามารถทำได้ผ่านแนวทางต่าง ๆ เช่น

  • Recycle

    การแปรสภาพ คือ การนำผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ วัสดุที่เหลือทิ้ง หรือใช้แล้วนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ หรือวัสดุชิ้นใหม่ต่อไป

  • Reuse

    การใช้ซ้ำ คือ การนำผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ หรือวัสดุมาใช้อีกครั้ง โดยไม่ผ่านกระบวนการผลิตใหม่หรือกระบวนการคืนสภาพ

  • Reclamation

    การเรียกคืน คือ การรวบรวมผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ หรือวัสดุเพื่อนำมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล

  • Recondition

    การปรับสภาพ คือ การทำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วให้กลับมามีสภาพที่น่าพอใจ โดยการสร้างใหม่หรือซ่อมแซมส่วนที่บกพร่องหรือเสียหาย

  • Recovery

    การนำกลับคืนมาใหม่ คือ การทำให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ หรือวัสดุที่ใช้แล้วถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การเตรียมการสำหรับการนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น

  • Refurbish

    การปรับปรุงใหม่ คือ การปรับปรุงความสวยงามของผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ หรือวัสดุ

  • Remanufacture

    การผลิตใหม่ คือ การทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วมีประสิทธิภาพอย่างน้อยเท่าของเดิม พร้อมด้วยการรับประกันที่เทียบเท่าหรือดีกว่าผลิตภัณฑ์ใหม่

  • Repair

    การซ่อมแซม คือ การทำให้ผลิตภัณฑ์ ชิ้นส่วน หรือวัสดุที่บกพร่อง ชำรุดกลับมาใช้งานได้

  • Repurpose

    การเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งาน คือ การใช้ผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ หรือวัสดุในบทบาทใหม่ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้งานในรูปแบบเดิม ๆ

  • Upcycle

    การรีไซเคิลเพื่อเพิ่มคุณค่า คือ การใช้วัสดุจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ถูกใช้งานแล้ว เพื่อสร้างสิ่งใหม่ ซึ่งแตกต่างจากการรีไซเคิลตรงที่ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เดียวกันอีก

  • Upgradable

    ยกระดับได้ คือ คุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่สามารถปรับปรุง เปลี่ยนส่วนประกอบ หรือชิ้นส่วนได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ทั้งหมด

แนวทางปฏิบัติตามหลัก Circular Economy

แนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลัก Circular Economy สามารถทำได้หลายวิธี อาทิ

  • การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) เพื่อให้มีความทนทาน และมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น เอื้อต่อการแยกชิ้นส่วนเพื่อรีไซเคิลหรือใช้ซ้ำ หรือการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรน้อยลงแต่คุณภาพยังคงเดิม
  • การจัดหาทรัพยากร (Resource Input) เพื่อใช้วัตถุดิบที่ได้จากการรีไซเคิลและการใช้ซ้ำ หรือการเลือกใช้ทรัพยากรที่มาจากแหล่งทรัพยากรที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ในการผลิตสินค้าและการใช้พลังงานทดแทนในกระบวนการผลิต
  • การผลิต (Manufacturing) เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติเพื่อเพิ่มความแม่นยำในกระบวนการผลิต ซึ่งส่งผลให้การใช้พลังงานและปริมาณของเสียในระบบลดลง
  • การขาย การตลาด และการขนส่ง (Sale and Distribution) ได้แก่ ส่งเสริมระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ระบบการเช่าสินค้า (Leasing) และส่งเสริมสังคมแห่งการแบ่งปันเพื่อให้การขายและขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลรวบรวมข้อมูลเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในขั้นตอนการขายและขนส่ง
  • การใช้งานผลิตภัณฑ์ (Product Use) จากการออกแบบที่ทนทานมากขึ้นและง่ายต่อการแยกชิ้นส่วน พร้อมด้วยการบริการซ่อมบำรุง ทำให้การใช้ผลิตภัณฑ์เกิดประสิทธิภาพยาวนานมากที่สุดตลอดช่วงอายุการใช้งาน
  • การกำจัด (Recovery) ผลิตภัณฑ์ที่สิ้นอายุจะผ่านกระบวนการจัดการที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการส่งของเสียไปยังหลุมฝังหลบ เกิดการหมุนเวียนวัตถุดิบจากผลิตภัณฑ์ที่สิ้นอายุให้อยู่ในวงจรการผลิตและบริโภคให้นานที่สุด โดยประยุกต์ใช้กระบวนการนำกลับต่าง ๆ เช่น การใช้ซ้ำ การรีไซเคิล การนำกลับไปผลิตพลังงานจากขยะ

ข้อดีของ Circular Economy

การนำหลักเศรษฐกิจ Circular Economy มาใช้มีข้อดีหลายประการ เช่น ทำให้การจัดการทรัพยากรขององค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นในระบบ ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับองค์กร เป็นการสนับสนุนให้เกิดสร้างสรรค์นวัตกรรมในองค์กร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงลดก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกระบวนการผลิตและกระบวนการทำงาน

หลัก Circular Economy มีความสำคัญต่อแนวทางการดำเนินงานของธุรกิจอย่างไร

หนึ่งในทางออกของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมต่าง ๆ คือ การต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับของเสียที่เหลือจากกระบวนการผลิต ซึ่งธุรกิจจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะทิ้งขว้างโดยเปล่าประโยชน์ การนำทรัพยากรเหลือทิ้งไร้มูลค่ามาสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นจึงนับเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ที่ช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจในด้านนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาสิ่งเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจนก่อให้เกิดธุรกิจที่มีมูลค่าสูงนั่นเอง